ทัศนคติที่มีผลต่อพฤติกรรมการเล่นเกมออนไลน์ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตจังหวัดอุบลราชธานี
Attitudes affecting online gaming behavior of high school secondary students in Ubon Ratchathani Province.
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาพฤติกรรมการเล่นเกมออนไลน์ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตจังหวัดอุบลราชธานี (2) ศึกษาทัศนคติที่มีผลต่อพฤติกรรมการเล่นเกมออนไลน์ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตจังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีอายุตั้งแต่ 16 - 19 ปี ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2563 ผู้ซึ่งเล่นเกมออนไลน์ จำนวน 400 คน ที่ได้มาจากวิธีการสุ่มหลายขั้นตอน เครื่องมือในการวิจัย คือ แบบสอบถามที่มีค่าความเที่ยงทั้งฉบับ (r=0.861) การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าร้อยละ, ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าเฉลี่ย และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว
ผลการวิจัย พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุ 18 ปี มีระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีรายได้มากกว่า 3,001 - 6,000 บาทต่อเดือน เกม Team Fortress 2/DOTA 2 จำนวนเวลาที่ใช้เล่น 1 – 2 ชั่วโมงต่อวัน ช่วงเวลาที่ใช้เล่น 18.01 น. - 22.00 น. สถานที่เล่นเกมเป็นที่บ้านตนเอง/ที่พักตนเอง/หอพักตนเอง วัตถุประสงค์ที่เล่นเกมออนไลน์เพื่อแสดงความเป็นตัวตน/สร้างเอกลักษณ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะตัดสินใจในการเล่นเกมออนไลน์ด้วยตัวเอง และมีค่าใช้จ่ายในการเล่นเกมออนไลน์อยู่ประมาณ 501 - 1,000 บาทต่อเดือน โดยที่ผู้ตอบแบบสอบถามมีระดับความคิดเห็นต่อทัศนคติอยู่ในระดับมาก ( Mean=3.750, S.D.= 0.489)
ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า (1) ทัศนคติในด้านความเข้าใจที่มีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มจะมีผลต่อพฤติกรรมการเล่นเกมออนไลน์ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตจังหวัดอุบลราชธานีที่แตกต่างกันโดยมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (2) ทัศนคติในด้านความรู้สึกที่มีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มจะมีผลต่อพฤติกรรมการเล่นเกมออนไลน์ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตจังหวัดอุบลราชธานีที่แตกต่างกันโดยมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ (3) ทัศนคติในด้านพฤติกรรมที่มีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มจะมีผลต่อพฤติกรรมการเล่นเกมออนไลน์ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตจังหวัดอุบลราชธานีที่แตกต่างกัน โดยมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05